จัดฟันตอนอายุเยอะ: บอกต่อวิธีการเลือก การดูแลฟันหลังการรักษา

คนไข้มาปรึกษาทันตแพทย์เรื่องจัดฟันตอนอายุเยอะ

หลายคนอาจคิดว่า การจัดฟันเหมาะสำหรับวัยรุ่นเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง “การจัดฟันตอนอายุเยอะ” ก็สามารถทำได้ และยังช่วยปรับโครงสร้างฟันให้ดีขึ้น ลดปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันซ้อนเก ฟันยื่น หรือการสบฟันผิดปกติ หากคุณกำลังมองหาทางเลือกวิธีการจัดฟันในวัยผู้ใหญ่ บทความนี้จะช่วยแนะนำว่าควรเลือกแบบไหน พร้อมเคล็ดลับดูแลฟันให้แข็งแรงตลอดการรักษา

จัดฟันตอนอายุเยอะ สามารถทำได้หรือไม่ ?

การจัดฟันไม่ได้จำกัดเฉพาะวัยรุ่น แม้จะอายุเยอะก็ยังสามารถจัดฟันได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากและวางแผนการรักษาให้เหมาะสม โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเหงือก หรือกระดูกขากรรไกรที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัย

ข้อดีของการจัดฟันในวัยผู้ใหญ่

  • แก้ไขปัญหาฟันซ้อนเก ฟันห่าง ฟันล้ม ฟันสบผิดปกติ : ฟันที่ไม่เรียงตัวอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพช่องปากที่ซับซ้อน การจัดฟันช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการเคี้ยวอาหาร : ฟันที่เรียงตัวดีขึ้นจะช่วยให้การบดเคี้ยวอาหารสะดวกขึ้น ลดภาระของระบบย่อยอาหาร
  • ลดความเสี่ยงของโรคเหงือกและโรคปริทันต์ : การจัดฟันจะช่วยปรับฟันให้เรียงตัว และลดการติดเชื้อในเหงือก
  • เสริมสร้างความมั่นใจและบุคลิกภาพ : รอยยิ้มที่สวยงามช่วยเพิ่มความมั่นใจในการติดต่อสื่อสาร

จัดฟันอายุเยอะ เลือกแบบไหนดี ?

ปัจจุบันมีตัวเลือกการจัดฟันหลากหลายประเภท แต่ละแบบมีข้อดีที่แตกต่างกันไป โดยควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพฟันและความต้องการของตัวเอง

1. จัดฟันแบบใส (Invisalign)

จัดฟันแบบใส เป็นตัวเลือกยอดนิยมสำหรับผู้ที่มีอายุ เพราะสามารถถอดออกได้สะดวก ทำให้การรับประทานอาหารและการทำความสะอาดฟันง่ายขึ้น อีกทั้งยังลดโอกาสการเกิดเหงือกอักเสบและฟันผุ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการจัดฟันแบบที่ไม่เห็นเครื่องมือจัดฟันชัดเจน

เหมาะสำหรับ

  • ผู้ที่ต้องการจัดฟันแบบสวยงาม ไม่ต้องการให้คนสังเกตเห็นเครื่องมือ
  • ผู้ที่ต้องการความสะดวกในการรับประทานอาหารและการทำความสะอาดช่องปาก
  • ผู้ที่มีปัญหาฟันซ้อนเกไม่มาก

2. จัดฟันแบบดามอน (Damon Braces)

จัดฟันแบบดามอนใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงเสียดทานระหว่างลวดและแบร็กเก็ต ทำให้รู้สึกเจ็บน้อยลงและใช้เวลารักษาน้อยลง

เหมาะสำหรับ

  • ผู้ที่ต้องการลดระยะเวลาจัดฟัน
  • ผู้ที่ต้องการลดอาการเจ็บปวดจากแรงดึงของเครื่องมือจัดฟัน
  • ผู้ที่มีปัญหาการเรียงตัวของฟันค่อนข้างมาก เช่น ฟันซ้อนเก ฟันห่าง หรือฟันเอียง

3. จัดฟันแบบเซรามิก (Ceramic Braces)

การจัดฟันที่ใช้เครื่องมือแบร็กเก็ตที่ทำจากวัสดุเซรามิก ซึ่งมีลักษณะโปร่งแสงหรือสีคล้ายกับฟันธรรมชาติ ช่วยให้เครื่องมือดูเรียบเนียนและไม่โดดเด่นเกินไป นอกจากนี้ยังใช้ลวดโค้งบาง ๆ และหนังยางสีใส เพื่อช่วยเคลื่อนตำแหน่งฟันให้เรียงตัวอย่างสวยงามในตำแหน่งที่เหมาะสม

เหมาะสำหรับ

  • ผู้ที่ต้องการจัดฟันแบบติดแน่นแต่ต้องการความสวยงาม
  • ผู้ที่ต้องการความแข็งแรงของเครื่องมือจัดฟัน แต่ไม่อยากให้ดูโดดเด่นเกินไป

4. จัดฟันแบบโลหะ (Metal Braces)

การจัดฟันแบบโลหะ เป็นวิธีที่ใช้เครื่องมือโลหะติดบนผิวฟัน พร้อมกับลวดที่ทำงานร่วมกัน มีประสิทธิภาพสูงและเป็นที่นิยมมายาวนาน เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาฟันซับซ้อน เพราะมีความแข็งแรงและสามารถควบคุมแรงดึงของฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

เหมาะสำหรับ

  • ผู้ที่มีปัญหาฟันซ้อนเก ฟันยื่น หรือการสบฟันผิดปกติที่รุนแรง
  • ผู้ที่ต้องการตัวเลือกที่มีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก

คำแนะนำจากทันตแพทย์สำหรับการจัดฟันในผู้ที่อายุเยอะ

หากคุณอายุมากและกำลังพิจารณาจะจัดฟัน ควรเลือกวิธีที่เหมาะสมกับสุขภาพช่องปากของคุณ โดยทันตแพทย์ขอแนะนำการจัดฟันแบบใส (Invisalign) เพราะช่วยให้สะดวกสบาย ทำความสะอาดง่าย ลดปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ หรือเหงือกอักเสบ อีกทั้งยังใช้แรงเคลื่อนฟันน้อยกว่า ทำให้ลดอาการเจ็บปวดระหว่างการรักษา

ผู้หญิงที่เลือกจัดฟันตอนอายุเยอะ ด้วยวิธีจัดฟันแบบใส

การดูแลตัวเองหลังจัดฟันสำหรับคนมีอายุ

เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกและเนื้อเยื่อรอบฟันจะมีการเปลี่ยนแปลงตามวัย การจัดฟันตอนอายุเยอะจึงต้องมีการดูแลเป็นพิเศษเพื่อลดปัญหาสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันผุ เหงือกอักเสบ และการเคลื่อนตัวของฟันที่ผิดปกติ ดังนั้น การดูแลตัวเองหลังจัดฟันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น

รับประทานอาหารอ่อน ๆ ลดแรงกัดเคี้ยว

หลังการจัดฟัน ฟันและเหงือกอาจมีอาการไวต่อแรงกด ควรเลือกรับประทานอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก หรือซุป และหลีกเลี่ยงอาหารที่แข็ง หรือเหนียว เช่น ถั่ว ลูกอมแข็ง หรือแอปเปิลทั้งลูก เพราะอาจทำให้ฟันเจ็บหรือเครื่องมือจัดฟันเสียหายได้

แปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร

การจัดฟันทำให้เศษอาหารติดตามซอกฟันได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะหากใช้เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น (โลหะหรือเซรามิก) จึงควรแปรงฟันทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร เพื่อป้องกันคราบจุลินทรีย์ที่อาจทำให้เกิดฟันผุและเหงือกอักเสบ

ใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุ

การจัดฟันอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ เพราะเครื่องมือจัดฟันอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ควรใช้ยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์เพื่อช่วยเสริมสร้างเคลือบฟันให้แข็งแรง ป้องกันการเกิดฟันผุ

เลือกใช้แปรงสีฟันที่เหมาะสมสำหรับคนจัดฟัน

เครื่องมือจัดฟันทำให้การทำความสะอาดฟันยากขึ้น ควรเลือกแปรงสีฟันที่ออกแบบมาสำหรับคนจัดฟันโดยเฉพาะ เช่น

  • แปรงสีฟันขนนุ่มและหัวเล็ก สามารถบิดตัวเข้าถึงซอกฟันและเครื่องมือจัดฟันได้ทั่วถึง และไม่ทำร้ายเหงือก
  • แปรงสีฟันสำหรับจัดฟัน (Orthodontic toothbrush) ขนแปรงตัดรูปตัว V เหมาะสำหรับการทำความสะอาดเครื่องมือจัดฟันและบริเวณโดยรอบ
  • แปรงซอกฟัน (Interdental brush) ใช้ทำความสะอาดระหว่างลวดจัดฟันและซอกฟัน

พบทันตแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อดูผลและปรับเครื่องมือตามแผนการรักษา

การพบทันตแพทย์เป็นประจำตามนัดหมายคือสิ่งสำคัญในการติดตามผลการจัดฟัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อายุเยอะ เพราะกระดูกขากรรไกรและฟันอาจเคลื่อนตัวช้ากว่าผู้ที่อายุน้อยกว่า

การดูแลตัวเองหลังจัดฟันเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะสำหรับการจัดฟันตอนอายุเยอะแล้ว เนื่องจากโครงสร้างกระดูกและเหงือกอาจไม่แข็งแรงเท่าคนวัยหนุ่มสาว การเลือกวิธีการดูแลที่ถูกต้องจะช่วยให้การจัดฟันได้ผลดี ลดภาวะแทรกซ้อน และทำให้ฟันเรียงตัวสวยงามอย่างยั่งยืน

หากคุณสนใจจัดฟันตอนอายุเยอะ มาปรึกษาทันตแพทย์ที่ About Tooth Dental คลินิกทันตกรรมที่พร้อมให้บริการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน ไม่ว่าจะมีปัญหาฟันคุด เหงือกอักเสบ เพื่อให้คุณแก้ไขทุกปัญหาก่อนการจัดฟัน ดำเนินการโดยทีมทันตแพทย์ พร้อมเครื่องมือที่ทันสมัย

นอกจากนี้ หากสงสัยว่า หลังจัดฟันเสร็จและถอดเครื่องมือแล้ว ต้องใส่รีเทนเนอร์นานแค่ไหน ? หรือรีเทนเนอร์ควรใส่กี่ปี ? เราพร้อมให้คำแนะนำที่เหมาะสำหรับคุณ สามารถนัดเข้ามาสอบถามและปรึกษาปัญหากับทันตแพทย์ เพื่อหาคำตอบพร้อมรับการตรวจวินิจฉัยและแนวทางการรักษาที่เหมาะสม ได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 080-481-5555 และ LINE : @abouttooth (มี @ ด้วย) หรือช่องทางติดต่ออื่น ๆ ของคลินิก About Tooth Dental

 

แหล่งอ้างอิง

  1. How Old Is Too Old For Braces? Rediscover Your Smile At Any Age. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 จาก https://aaoinfo.org/whats-trending/am-i-too-old-for-orthodontic-treatment/